อัพเดทข่าวสารบ้านเมือง

cover-photo-3tnew

หมอธีระ เตือนวิกฤตการระบาดของ "โอไมครอน" วัคซีนอย่างเดียวเอาไม่อยู่

โอไมครอน

“โอไมครอน” หมอธีระเตือนวิกฤตการระบาดรอบนี้วัคซีนโควิดอย่างเดียวเอาไม่อยู่ ย้ำสวมหน้ากากเว้นระยะห่างยังป้องกันการแพร่ระบาดได้อยู่

ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat  เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และการระบาดของโควิดสายพันธุ์ “โอไมครอน” โดยระบุ ว่า

15 ธันวาคม 2564…

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 590,465 คน ตายเพิ่ม 6,935 คน รวมแล้วติดไปรวม 271,690,298 คน เสียชีวิตรวม 5,336,072 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เยอรมัน และรัสเซีย

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 92 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 96.46

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรป นั้นมากถึงร้อยละ 61.05 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 61.12

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

สำหรับสถานการณ์ไทยเรา

เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 2,862 คน สูงเป็นอันดับ 33 ของโลก

หากรวม ATK อีก 2,471 คน ก็ขยับเป็นอันดับ 22 ของโลก

ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย

อัพเดต Omicron

เมื่อคืนนี้ Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เผยแพร่วีดิโอเตือนให้ทุกประเทศได้ทราบว่า วิกฤติการระบาดของ Omicron ตอนนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วมากกว่าสายพันธุ์อื่นที่เคยเจอมา วัคซีนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะนำพาเราพ้นวิกฤติ

สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และต้องทำไปควบคู่กันอย่างสม่ำเสมอคือ การใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น ระบายอากาศในสถานที่ต่างๆ และล้างมือ

โอกาสเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีน และจากการติดเชื้อโควิด-19

Patone M และคณะ จากมหาวิทยาลัย Oxford สหราชอาณาจักร ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่ทำการทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2020 ถึง 24 สิงหาคม 2021

ติดตามดูประชากรในสหราชอาณาจักรจำนวนกว่า 38 ล้านคน ที่ได้รับการฉีดวัคซีน Astrazeneca, Pfizer/Biontech และ Moderna โดยเปรียบเทียบว่าเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากน้อยเพียงใดในช่วง 28 วันหลังฉีดวัคซีน และเทียบกับโอกาสที่เกิดขึ้นในคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย

โดยสรุปแล้ว พบว่า เรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น หากติดเชื้อโควิดจะเกิดได้ถึง 40 คนต่อ 1,000,000 คน

ในขณะที่เกิดในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนเข็มแรก (Astra 2, Pfizer 1, Moderna 6)  และเกิดในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนเข็มที่สอง Moderna ราว 10 คนต่อ 1,000,000 คน

โดยหากพิจารณาในกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปี พบได้ใน Pfizer ราว 2 และ 3 คนต่อ 1,000,000 คน และ Moderna 8 และ 15 คนต่อ 1,000,000 คน สำหรับเข็มแรกและเข็มสองตามลำดับ

งานวิจัยนี้ย้ำให้เห็นว่า ความเสี่ยงที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้นสูงกว่าจากวัคซีน

ด้วยรักและห่วงใย

อ้างอิง

Patone M et al. Risks of myocarditis, pericarditis, and cardiac arrhythmias associated with COVID-19