เทียบความต่างฝีดาษลิงกับโควิด-19 ไม่ได้ติดง่าย พร้อมแนวทางป้องกัน
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความถึงกรณี “ฝีดาษวานร โรคนี้จะระบาดมากไหม และจะป้องกันอย่างไร”โดยได้ระบุว่า การระบาดของโรคนี้นอกทวีปแอฟริกา แต่เดิมเกิดจากการติดต่อจากสัตว์มาสู่คน โดยเฉพาะ สัตว์เลี้ยงตระกูลหนู ที่เป็นพาหะไวรัสนี้อยู่ เช่น หนูยักษ์แกมเบีย (Gambian giant rat) แพรี่ด็อก (Prairie dog) การระบาดในครั้งนี้ไม่มีหลักฐานการติดเชื้อจากสัตว์ แต่เป็นการติดระหว่างสัมผัสกับผู้ป่วย การติดต่อจะต้องมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิด ไม่ได้ติดง่ายแบบโควิด-19 การกระจายโรค ยังไม่น่าเป็นห่วง ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวงจำกัด โรคนี้มีวัคซีนในการป้องกัน การปลูกฝีในอดีต ก็สามารถป้องกันโรคนี้ได้ ผู้ที่เคยปลูกฝีแล้ว ถึงแม้ว่าจะติดเชื้อ ตุ่มที่เกิดขึ้นจะน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เคยปลูกฝีมาก่อน