บิ๊กป้อมไฟเขียว 13 มาตรการจัดการน้ำฤดูฝน ปี 65 ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2565 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิเช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง เข้าร่วมการประชุม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยพลเอกประวิตร ได้เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบต่อร่างมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 รวมทั้งสิ้น 13 มาตรการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อมบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนให้เร็วยิ่งขึ้นและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่
- คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ
- การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก
- ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง และเขื่อนระบายน้ำ
- ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ ระบบระบายน้ำสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน
- ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ
- ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา
- เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ
- เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ
- ตรวจความมั่นคงปลอดภัยคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ
- จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ
- ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย
- การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
- ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย
โดยได้ทำการมอบหมายให้ สทนช. เป็นหน่วยงานบูรณาการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการเก็บกักน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 เสนอ กนช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับมาตรการดังกล่าวอีกด้วยด้วย
ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฉบับปรับปรุง ซึ่งได้มีการทบทวนและปรับขั้นตอนของปฏิทิน รวมถึงปรับเปลี่ยนช่วงเวลาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งช่วงฤดูแล้ง (1 พ.ย.-30 เม.ย.) และฤดูฝน (1 พ.ค.-31 ต.ค.) และให้เสนอต่อ กนช. ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 14 มีนาคม ที่จะถึงนี้ พร้อมได้มอบหมายให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดำเนินงานตามปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น